สิวอักเสบคืออะไร? มีแบบไหนบ้าง?

สิวอักเสบคืออะไร? มีแบบไหนบ้าง?

สิวอักเสบคืออะไร?

สิวอักเสบ (Inflammatory acne) หรือ Papulopustular acne คือสิวอุดตัน (Comedones) ที่มีแบคทีเรีย Propionibacterium acnes (P.acnes) เจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว โดย P.acnes สามารถดึงดูดเม็ดเลือดขาวเข้ามาในตุ่มสิว กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และยังมีเอนไซม์ช่วยในการย่อยน้ำมัน (Sebum) ในตุ่มสิวให้กลายเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการอักเสบอีกด้วย สิวอักเสบสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามขนาดของตุ่มสิวอักเสบ และความรุนแรงของอาการอักเสบ ดังนี้

  • สิวชนิดตุ่มนูนแดง (Papule)เป็นตุ่มแดงเจ็บ ขนาดไม่เกิน 0.5 ซม. ส่วนมากสิวชนิดนี้เป็นสิวอักเสบในระยะแรกที่เปลี่ยนมาจากสิวอุดตัน
  • สิวหัวหนอง (Pustule)มีลักษณะเป็นตุ่มแดงและปวด ข้างบนตุ่มมีหัวหนองสีเหลือง เป็นสิวที่มีอาการอักเสบมากกว่าสิวอักเสบชนิด Papule หรืออาจเกิดจากสิวมีการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นแทรกซ้อน
  • สิวอักเสบแดงเป็นก้อนลึก (Nodule)เป็นตุ่มแดงเจ็บขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง โดยมีขนาดเกิน 0.5 ซม. มีอาการเจ็บปวดค่อนข้างมาก สาเหตุมักเกิดจากเป็นสิวอักเสบชนิด Papule แล้วมีการกดบีบสิว ทำให้แบคทีเรียและน้ำมันในตุ่มสิวแตกกระจายอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้สิวยิ่งอักเสบบวมแดง
  • สิวเป็นถุงขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง (Acne Cyst)พบได้ไม่บ่อย ถุงน้ำใต้ผิวหนังอาจมีขนาดใหญ่หลายเซนติเมตร ไม่แดง ไม่ปวด มีลักษณะเป็นถุงภายในและมีของเหลวข้นหนืดสีเหลือง สิวชนิดนี้แม้จะรักษาจนยุบแล้ว แต่หลังจากนั้นมักจะกลายเป็นแผลเป็นก้อนนูนแข็งหรือหลุมสิวขนาดใหญ่
  • สิวหัวช้าง (Acne Conglobata)เป็นสิวอักเสบชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงมาก มักเป็นในวัยรุ่นผู้ชายที่มีผิวหน้ามันมาก บางรายมีประวัติคนในครอบครัวเป็นสิวหัวช้างด้วย สิวหัวช้างมีลักษณะเป็นสิวอักเสบรุนแรงทุกชนิดขึ้นรวมกันหนาแน่น ได้แก่ สิวชนิด pustule, nodule และ cyst หัวสิวมักแตก มีหนองและน้ำเหลืองไหลตลอดเวลา มักมีเกิดที่ใบหน้า, หน้าอก และหลัง รักษาได้ยาก และหากได้รับการรักษาที่ผิดวิธีอาจทำให้สิวลุกลามติดเชื้อมากขึ้น เซลล์ผิวหนังถูกทำลายจนกลายเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่หรือหลุมสิวถาวร

สาเหตุของสิวอักเสบ

สิวอักเสบอาจเกิดจากการอุดตันในรูขุมขนและต่อมไขมันใต้ผิวหนังบริเวณสิวอุดตัน หรืออาจเกิดกระบวนการอักเสบขึ้นมาเองบริเวณผิวหนังปกติ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ เช่น

  • กรดไขมันอิสระและไขมันผิวหนัง (Sebum) ที่ซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนัง
  • สารที่ผลิตโดยแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว (Propionibacterium Acnes หรือ P.Acne) แพร่เข้าสู่ชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • การอุดตันในรูขุมขนที่อาจนำไปสู่ปฏิกิริยาอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจะห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมไว้จนเกิดเป็นก้อนสะสมใต้ผิวหนัง
  • สารก่ออาการอักเสบ ที่ถูกผลิตขึ้นภายในเยื่อบุเซลล์ ต่อมไขมัน หรือในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
  • ภาวะภูมิไวเกิน หรือปฏิกิริยาที่มากเกินไปของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
  • ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่เพิ่มมากขึ้น (Testosterone) ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเจริญเติบโตในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ฮอร์โมนนี้ไปกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้ทำงานมากขึ้น
  • กรรมพันธุ์ หากมีพ่อแม่ที่เป็นสิว ผู้สืบสายเลือดรุ่นต่อมามีโอกาสที่จะเป็นสิว หรือมีแนวโน้มเป็นสิวในระดับรุนแรงได้
  • เพศหญิง ผู้ป่วยเพศหญิงมีแนวโน้มเป็นสิวได้มากในช่วงที่ฮอร์โมนเพศในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตอนช่วงมีประจำเดือนหรือช่วงที่ตั้งครรภ์
  • การอุดตันของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว สิ่งสกปรกจากการมีสุขอนามัยที่ไม่ดี ใช้เครื่องสำอางที่ทำให้รูขุมขนอุดตันคุณภาพ หรือสวมใส่เครื่องแต่งกายที่รัดหรือลงน้ำหนักบนผิวหนังที่เป็นสิว เป็นต้น
  • การใช้ยารักษาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลิเทียม ยาต้านอาการชัก เป็นต้น
  • การสูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดสิว โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมาก

การรักษาสิวอักเสบ

เมื่อเป็นสิว หากมีอาการไม่รุนแรงนัก อย่างสิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือสิวอักเสบเล็ก ๆ ในเบื้องต้นก็อาจรักษาได้ด้วยตนเอง โดยใช้ยาตามร้านขายยาที่มีใบรับรองถูกต้องภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ แต่หากมีสิวขึ้นจำนวนมาก หรือรักษาด้วยตนเองแล้วการอักเสบของสิวไม่ทุเลาลง ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจรักษา และการรักษาสิวด้วยวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ประเภท ความรุนแรงของสิว และสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามประเภทของสิว สาเหตุที่ทำให้เกิดสิว และระดับความรุนแรงของการอักเสบด้วยเช่นกัน